วิสัยทัศน์การวิจัย พันธกิจการวิจัย

  1. กรอบแนวคิด

         มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในงานสร้างสรรค์ จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการและเทคโนโลยี  มีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่นำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้จริง (Practical University) เพื่อเป็นแหล่งพัฒนา สร้างและรวบรวมองค์ความรู้  เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มีมูลค่าสูงของประเทศอย่างยั่งยืน

เป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยในช่วงปี 2566 ถึง 2570 ให้ความสำคัญในการเชื่อมความความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยกับต้นทุนของประเทศที่สำคัญ คือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) มาพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมที่สร้างความเข้มแข็ง ความยั่งยืน และ สร้างรายได้ให้กับประเทศ

แผนแม่บทงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายประเทศไทย 4.0 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (23) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นโยบายการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจด้วยฐานการท่องเที่ยวและโรงแรม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญดังต่อไปนี้

  • งานวิจัยด้านนโยบายพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ Soft Power (Food, Fashion, Film, Festival, Fighting) ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร งานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ งานวิจัยเพื่อพัฒนาคลัสเตอร์ Sport Economy
  • ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลนำสื่อในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เทคโนโลยีเมต้าเวิร์ส (Metaverse) และโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการเรียนการสอน การฝึกอบรมด้วยเครื่องจำลองเหตุการณ์จริง โดยนำไปประยุกต์ในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การแพทย์ การตลาด การท่องเที่ยว และการโรงแรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของในประเทศไทย
  • งานวิจัยด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ (Creative Media) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)ที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการสื่อสารในโลกปัจจุบันและอนาคต และเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ของประเทศสู่ระดับโลก
  • งานวิจัยด้านการพัฒนาวิสาหกิจและผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงย่านนวัตกรรมและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการไทย ตลอดจนการเปิดตลาดใหม่ๆในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  • งานวิจัยด้านการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และภัยคุมคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
  1. วิสัยทัศน์การวิจัย

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมการวิจัยที่สร้างสรรค์และมีคุณค่า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

  1. พันธกิจการวิจัย
  • ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมในสาขามุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหารและการบริการ การประกอบธุรกิจ ด้านสื่อสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบันเทิง และใช้สื่อดิจิทัล สื่ออินเทอร์แอคทีพ เมต้าเวิร์ส และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นฐานการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และส่งเสริมมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศด้านดิจิทัลมีเดียในระดับนานาชาติ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาประเทศ
  • ประยุกต์และขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยโดยการบูรณาการทุกมิติเพื่อนำมาใช้ในด้าน การแพทย์ การยกระดับคุณภาพชีวิต การป้องกันประเทศ การประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรมบันเทิง การท่องเที่ยว และการบริการ
  • บูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน และงานบริการวิชาการสู่การสร้างนวัตกรรมการศึกษา ชุมชนสังคม รวมถึงการจัดการความรู้จากผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
  • สร้างนักวิจัยมืออาชีพที่มีความเป็นเลิศด้านวิชาการและงานวิจัย สร้างระบบนิเวศการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในระดับชาติและนานาชาติ
  • พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยแนวใหม่แบบมืออาชีพภายใต้ธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย
  • เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ สังคม และผู้ประกอบการ
  1. ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ 1 การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านเกมและ Immersive Technology เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของประเทศ

ยุทธศาสตร์ 2 การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหารและการ     บริการ

ยุทธศาสตร์ 3 การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมระบบฝึกอบรมด้วยการจำลองสถานการณ์จริงในด้านการป้องกันประเทศและด้านการแพทย์

ยุทธศาสตร์ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Media) และ อุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment Industry) ของประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ 5 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์